คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
Faculty of Geo-Informatics Burapha University.

มหกรรมนิทรรศการด้านความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน

           เมื่อ 19 ส.ค.2559 เวลา 09.01 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติและมหกรรมนิทรรศการด้านความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ที่พระองค์ทรงเป็นพระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ที่ทรงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและมีโครงการในพระราชดำริจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง และเนื่องในโอกาสที่สำนักงานฯ ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ ครบ 9 ปี

          โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเยี่ยมชมนิทรรศการ โครงการ “การศึกษาเชิงพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะภูมิอากาศและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงต่อความชุกชุมและความหลากหลายทางชีวภาพของกุ้งเคยบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเลือกจาก BEDO เนื่องจากมีความสำคัญในด้านความมั่งคงทางอาหารที่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนสภาวะภูมิอากาศ (Climate Variability) การใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่ง (Coastal Land Use Land Cover Change) และการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Change) โดยมี ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร (หัวหน้าโครงการ) คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.บูรพา และ รศ.ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร (นักวิจัยร่วม) คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา เข้าร่วมถวายรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยวิธีการดำเนินการวิจัยได้บูรณาการความรู้แบบสหสาขาวิชาเข้าร่วมกันทุกด้าน อาทิ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการสำรวจถิ่นอาศัยโดยประยุกต์หุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก (Drone) ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite images) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แบบจำลองกระแสน้ำ (Current modelling) โมบายแอพพลิเคชั่นรายงานกุ้งเคย (Mobile App.) ฯ เพื่อไขข้อสงสัยและกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ การจำแนกชนิดพันธุ์กุ้งเคยในจังหวัดระยอง การหาความสัมพันธ์ของปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรของกุ้งเคย และนำไปสู่กระบวนการจัดทำแผนที่ศักยภาพถิ่นอาศัยของกุ้งเคยในภาคตะวันออก ซึ่งยังคงต้องดำเนินการวิจัยในลำดับต่อไป

 

รายละเอียดโครงการ

ชื่อโครงการเรื่อง : การศึกษาเชิงพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะภูมิอากาศและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงต่อความชุกชุมและความหลากหลายทางชีวภาพของกุ้งเคยบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย (Geospatial-based study for the impacting of Climate and Rapid Ecosystem Changes on Abundance and Biodiversity of Paste shrimp along the Eastern Coast of Thailand)

 

ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปี 2558  จำนวน 1,500,000 บาท

เลขที่สัญญา สพภ.-วช. 11/2559

ระยะเวลาทำการวิจัย  1  ปี  เริ่มทำการวิจัยเมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ถึง 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

 

คณะนักวิจัย

  1. ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร (หัวหน้าโครงการ) คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  2. ดร.กาญจนา หรีมเพ็ง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  3. ผศ.ดร.อภิรดี ปิลันธนภาคย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  4. ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  5. รศ.ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  6. ผศ.ดร.อนุกูล บูรณประทีปรัตน์ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่ปรึกษา

  1. รศ.ดร.สุวิทย์ อ๋องสมหวัง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี
  2. รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ผศ.ดร.พิชาญ สว่างวงศ์ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
  4. นายฐกร ค้าขายกิจธวัช ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
th